
TCAS รอบ 3 สอบตรงนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
รอบนี้น้อง ๆ ต้องสอบวิชาเฉพาะ ที่ทางมหาวิทยาลัยจัดสอบเอง โดยจะมีลิ้งสมัครแนบไว้ท้ายบทความ
โดยรอบนี้จะสอบก่อน รู้คะแนนแล้วจึงนำคะแนนมายื่นอีกครั้ง ทำให้น้อง ๆ สามารถวางแผนล่วงหน้าได้ว่าจะยื่นคะแนนสมัครศูนย์ไหนดี ระหว่างรังสิต หรือลำปางเพราะคะแนนของ สองศูนย์นี้แตกต่างกันโดยลำปางจะมีโอกาสสอบติดได้ง่ายกว่า โดยข้อมูลนี้เป็นของปี 2565 / 2566 (ข้อมูล ณ วันที่ 21 กันยายน 2565)
1. วันสมัครสอบวิชาเฉพาะ / ประกาศรายชื่อที่นั่ง
สมัครสอบ : 1 – 16 ก.พ. 2566
ค่าสมัครสอบ 300 บาท เปิดรับสมัคร 09.00 น. วันสุดท้ายปิดรับสมัคร 23.59 น.
สมัครสอบที่เว็บไซต์ https://www.tuadmissions.in.th/
ประกาศที่นั่ง : 15 มี.ค. 2566
2. วันสอบวิชาเฉพาะ / ประกาศผลคะแนน
วันสอบ : อาทิตย์ 26 มี.ค. 2566
เวลา 09.00 – 12.00 น. (3 ชั่วโมง)
วันประกาศผลคะแนน : จันทร์ 24 เมษายน 2566
เว็บไซต์ www.law.tu.ac.th
3. จำนวนรับนักศึกษา
ในปีการศึกษา 2566
ศูนย์รังสิตเปิดรับ 300 คน
ศูนย์ลำปางรับ 100 คน
4. คุณสมบัติ
• เด็ก ม.6 หรือเทียบเท่า เช่น กศน. ปวช. อินเตอร์ ,เด็กซิ่วอายุไม่เกิน 20 ปี
• ไม่จำกัดเกรดเฉลี่ย
5. ข้อสอบที่ใช้สอบ

ข้อสอบวิชาเฉพาะได้แก่
ส่วนที่ 1 การใช้เหตุผลเชิงตรรกะ 15 คะแนน (15 ข้อ)
เป็นการทดสอบการคิดอย่างมีเหตุและผล การแก้ปัญหาโดยใช้เหตุผลเชิงตรรกะ โดยกฎเกณฑ์หรือรูปแบบที่กำหนดให้มาพิจารณาอย่างเป็นขั้นตอน
ข้อสอบส่วนนี้จะมี 3 ส่วนย่อยได้แก่
1. บทความสมมุติขึ้นโดยให้หาความขัดแย้ง หรือหาความข้อความที่สนับสนุนเป็นไปได้มากที่สุด หรือ เป็นบทสนทนาความคิดที่ขัดแย้งกันให้น้อง ๆ หาว่า มีความขัดแย้งกันที่ประเด็นใด
2. อีกส่วนจะเป็นเหตุการณ์สมมุติขึ้นมา แล้วให้น้อง ๆ ใช้ตรรกะความคิด หาความเป็นเหตุเป็นผล เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้องให้ได้
3. หากฎ หรือความสัมพันธ์เชิงตรรกะทางรูปภาพ
ส่วนที่ 2 ความเข้าใจในการอ่าน 35 คะแนน (35 ข้อ)
เป็นการทดสอบความสามารถในการอ่านเพื่อให้เข้าใจ และจับประเด็นสำคัญ รวมถึงความเข้าใจในภาษาและถ้อยคำที่ใช้ในบทความ โดยข้อสอบในส่วนนี้จะกำหนดบทความให้ และมีคำถามเพื่อถามความเข้าใจในการอ่านบทความแต่ละบทความ
ส่วนที่ 3 การใช้เหตุผลในทางกฎหมาย 50 คะแนน (50 ข้อ)
เป็นการทดสอบความสามารถในการตีความกฎหมาย จับประเด็นได้ตรงจุด และสามารถหาคำตอบที่ถูกต้องได้ โดยมีข้อสอบ 3 ประเภทดังนี้
1. มีหลักกฎหมาย มีข้อเท็จจริงเป็นโจทย์ตุ๊กตามาให้ และมีตัวเลือกให้ตอบ โดยน้อง ๆ ต้องนำหลักกฎหมายมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงเพื่อหาคำตอบที่ถูกต้องที่สุด
2. มีหลักกฎหมายให้มา และมีตัวเลือกโดยให้หาข้อเท็จจริงที่ตรงกับหลักกฎหมายมากที่สุด
3. มีข้อเท็จจริงให้มา และมีตัวเลือกโดยให้หาหลักกฎหมายที่ตรงกับข้อเท็จจริงมากที่สุด
ตัวอย่างข้อสอบ
1. หลักกฎหมาย
1) ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษ…
2) ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษ…
3) ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด
ข้อเท็จจริง
นายดำได้ยื่นหนังสือขออนุญาตก่อสร้างอาคารตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีนายแดงเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจพิจารณาคำขอ โดยนายดำได้มอบเงิน 5,000 บาทให้แก่นายแดงเพื่อที่นายแดงจะได้พิจารณาและออกใบอนุญาตให้แก่ตนตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยเร็ว นายแดงรับเงินจำนวนดังกล่าวไว้แต่ก็หาได้ประวิงเวลา หรือเร่งออกใบอนุญาตให้แก่นายดำแต่อย่างใด เช่นนี้ข้อใดถูกต้องเกี่ยวกับความผิดของนายแดงและนายดำ
ก. ดำมีความผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงาน และแดงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบน
ข. ดำไม่มีความผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงาน ส่วนแดงมีความผิดฐานเจ้าพนักงานรับสินบน
ค. แดงผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบน ส่วนดำผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าพนักงานรับสินบน
ง. แดงไม่ผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบน และดำไม่ผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงาน
คำตอบ ข้อนี้มีเหตุผลอธิบายดังนี้ คือ นายดำจะมีความผิดตามหลักกฎหมายข้อ 1) ก็ต่อเมื่อนายดำติดสินบนให้นายแดงเจ้าพนักงานไปกระทำผิดอันมิชอบด้วยหน้าที่เท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงกล่าวว่า “นายแดงหาได้ประวิงเวลา หรือเร่งออกใบอนุญาตให้แก่นายดำแต่อย่างใด” นั่นหมายความว่านายแดงก็ปฎิบัติภายในกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด ทำให้นายแดงปฎิบัติหน้าที่โดยชอบตามกฎหมายอยู่ นายดำผู้ติดสินบนจึงไม่ผิด ตามหลักกฎหมายข้อที่ 1)
ส่วนความผิดของนายแดง ต้องพิจารณาตามหลักกฎหมายข้อ 2) เพราะมาตรานี้ระบุให้ใช้กับเจ้าพนักงานซึ่งหลักกฎหมายระบุชัดเจนว่า “ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่” นั่นหมายความว่า ต่อให้นายแดงรับสินบนมา และยังคงปฎิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด นายแดงก็ยังคงมีความผิดอยู่ดี
ดังนั้น สรุปคำตอบจึงเป็น ข้อ ข. ดำไม่มีความผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงาน ส่วนแดงมีความผิดฐานเจ้าพนักงานรับสินบน
จะเห็นได้ว่าข้อสอบส่วนนี้ น้อง ๆ ต้องฝึกวิเคราะห์หลักกฎหมายที่โจทย์ให้มา เข้าใจภาษา และหลักคิดของกฎหมาย เพื่อนำมาใช้ในการไขปัญหาของคำถามให้ได้
6. การยื่นคะแนน และสัมภาษณ์
หลังจากที่เราทราบคะแนนสอบทั้งหมดแล้ว น้อง ๆ ต้องเข้าไปสมัครยี่นคะแนน TCAS รอบ 3 ได้ที่เว็บไซต์ Mytcas โดยเริ่มยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 7 – 13 พฤษภาคม 2566 และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก ครั้งที่ 1 วันที่ 20 พฤษภาคม 2566 ครั้งที่ 2 วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 และสอบสัมภาษณ์วันที่ 30 – 31 พฤษภาคม 2566
โดยสามารถยื่นได้ทั้งหมด 10 อันดับแบบเรียงอันดับ (ไม่ว่าน้องๆ จะไปสอบตรงคณะไหน หรือมหาวิทยาลัยไหนมาก็ตาม) แต่จะติดได้เพียงแค่ 1 อันดับเท่านั้น ดังนั้นต้องตัดสินใจให้ดี ว่าอันดับที่ 1 น้อง ๆ ต้องการเข้าที่ไหนมากที่สุด